MAMATA_nurturing nature in your child
  • Home
  • Course
    • Waldorf-Inspired Parent & Child Playgroup
  • Store
  • About
    • MaMaTa Family Playgroup
    • MaMaTa Family Workshop
    • MaMaTa Family Trip
    • MaMaTa Family Store
    • MaMaTa Family Bookstore
    • MaMaTa Family Space
  • Contact
    • Map
  • Sharing / Articles
  • Photo Gallery
  • Publicity
  • ของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กๆใน
  • Children Songs
  • Stockmar Modelling Beeswax
  • Children Drawing
  • Blog

รังพัก . รัง(ฟูม)ฟัก . รังบ่มเพาะความรัก  ที่นี่...บ้านสำราญ

12/8/2020

0 Comments

 
Picture
        ใครที่ไปมาหาสู่ที่บ้านแม่ตา อาจจะพอสังเกตเห็นสิ่งก่อสร้างเล็กๆนี้ ที่หน้าประตูทางเข้าของเรือนสมเจตนา บ้านสำราญ ก็จะรู้ว่ามีครอบครัวของนกกินปลีอกเหลืองย้ายสำมะโนครัวมาพักอาศัยกับเราครอบครัวหนึ่ง
.
             ย้อนกลับไปในช่วงปลายฤดูร้อน ย่างเข้าสู่ฤดูฝน ราวต้นเดือนพค. ก่อนฝนจะมา เกิดลมพัดแรง ทำให้ โมบายล์ Felt Ball ใยขนแกะที่แม่ตาทำผูกไว้บนกิ่งไม้ และแขวนไว้หน้าประตู ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ พันกันยุ่งเหยิง เดินเข้าออกก็เห็นอยู่ แต่ความที่ช่วงนั้นกำลังวุ่นวายกับงานการ จึงยังไม่ได้เข้าไปแก้ และคิดว่าน่าเอาออกไปเก็บเสียเลยน่าจะดีกว่า
.
             วันหนึ่งขณะที่นั่งทำงานในห้องบนเรือน เปิดประตูรับลมอยู่ ก็ได้ยินเสียงนกร้องอยู่หน้าประตู ร้องอยู่นานพอควร และ เห็นมีนกตัวเล็ก ซึ่งมองไปก็รู้ว่าเป็นนกกินปลีอกเหลือง นกประจำถิ่นแถวบ้านสำราญนี่ล่ะ บินคาบเศษใยต่างๆ (รวมทั้งเศษพลาสติกด้วย) มาค่อยๆสร้างรัง ความคิดที่จะรื้อไปเก็บก็พับลง มานั่งมองดูว่าครอบครัวนกนี้จะสร้างรังหน้าตาแบบไหนกัน ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ก็พบว่ารังนี้สร็จสมบูรณ์ สังเกตจากตอนกลางคืนจะมีนกตัวหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นแม่นก ) เข้ามานอนในรัง โผล่ออกมาเฉพาะส่วนหัวและจงอยปากสีดำโค้งยาวสวย
.
             จากนั้นทุกคืนพี่พุดลูกสาว จะคอยบอกแม่ตาว่า “นกมาเช็คอินเข้านอนให้อพาร์ทเม้นคุณป้าแล้วน้า” เวลาใครเปิดปิดประตูเร็วๆ เสียงดังโครมคราม แม่นกก็บินเตลิดจากรังไป พอแอบส่องเข้าไปเราก็พบไข่ใบเล็กๆ 1 ใบอยู่ในนั้น ก็รับรู้ด้วยความยินดีว่า ชีวิตใหม่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในรังน้อยนี้ในไม่ช้า
.
            ทุกๆครั้งที่นกบินออกไปด้วยความตกใจ ไอ้เราก็จะกังวลทุกทีไป ความรู้สึกคือ เราเป็นเจ้าของบ้านก็อยากจะดูแลให้แม่และลูกปลอดภัย มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนกลางคืน กลับเข้าบ้านมา โดยที่ไม่ทันระวัง พี่พุดได้เปิดประตูไปชนรังที่แม่นกกำลังนอนกกไข่อยู่อย่างแรง แม่นกตกใจบินออกไปทันใด แล้วก็หายไป ไม่กลับเข้ารังจนล่วงเข้า เที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสอง ก็ยังไม่กลับ ตอนนั้นคิดว่า นี่ถ้าแม่นกไม่กลับมา ไข่ที่รอการฟักจะเป็นอย่างไรหว่า แต่แล้วในคืนวันถัดมา เรากลับเข้าบ้าน ก็พบว่าแม่นกกลับมาแล้ว ตอนนั้นรู้สึกโล่งอก และ ดีใจเหลือเกิน
.
          ไม่นานในช่วงมิย. เราก็เริ่มเห็นพฤติกรรมใหม่ แม่นกคาบอาหารมาเกาะตรงทางเข้ารัง และใช้ปากส่งอาหารลงไปในรัง แต่เราไม่เห็นตัวลูกนก แต่เดาได้ไม่ยากว่า เจ้านกน้อยคงฟักออกจากไข่แล้วสินะ แน่นอนว่าเจ้าบ้านอย่างเราก็ปลื้มปริ่มมากทีเดียว
.
             ตอนแม่นกบินออกไปหาอาหาร แม่ตาพยายามมองเข้าไปในรังเห็นหัวกลมดำ ขยับไปมา แค่นั้นก็ยิ้มออกมาได้ละ จากนั้นอีกราว 1 – 2 สัปดาห์ เวลาที่แม่นกคาบอาหารมาให้ เรายืนมองผ่านกระจก ก็เห็นปากของลูกนก พอแม่บินไป เจ้าลูกนกก็อ้าค้างไว้ น่าจะรออาหารจากแม่ตามสัญชาตญาณ เป็นภาพที่น่ารัก และ ประทับใจ เฝ้าดูลูกนกโตขึ้นๆทุกวัน เราก็แอบลุ้น อยากเห็นช็อตสำคัญ นั่นคือตอนลูกนกบินออกจากรัง
.
               แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น วันนึงเรากลับบ้านมาพบกับรังอันว่างเปล่า นกแม่ นกลูก ที่เคยมาพักอาศัย บัดนี้หายไปหมด ตอนนั้นบอกเลยว่าแอบผิดหวัง เศร้าไปสองสามวัน
.
             ได้ยินเสียงความคิดนึงโผล่แว้บขึ้นมาว่า เวลามีใครมาพึ่งพาอาศัย ฉันรู้สึกดีใจ ฉันรู้สึกมีค่าขึ้นมาทันใด แต่พอหมดวาระและเขาเหล่านั้นจากไป ฉันรู้สึกเสียใจ รู้สึกไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะฉันดูแลเธอไม่ดีใช่ไหม เธอจึงได้จากไป ฉันรู้สึกสูญเสียบางอย่าง บางอย่างที่ว่านั้นคืออะไรนะ การเป็นที่รัก การเป็นที่ยอมรับ การถูกให้คุณค่า ใช่หรือไม่ เป็นไปได้ไหมว่าฉันอาจจะชินกับการรีบสรุปว่า ถ้าเขาจากไป เท่ากับ ฉันต้องทำอะไรผิดแน่ๆ
.
              ตอนที่ฉันเห็นตัวตนคนที่เอ่ยเสียงนี้ในตัวฉันปรากฏขึ้น ฉันรู้สึกว่า ฉันตื่นจากความฝัน ฉันเห็นเด็กน้อยผู้เปราะบางในตัวเอง เขายังอยู่ เขายังรอคอยให้ฉันดูแลและโอบกอด โดยไม่ผลักใส

Picture
                 เมื่อได้เห็น เมื่อได้สื่อสาร เมื่อยอมรับ ก็ผ่อนคลายและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนรังนั้นก็ร้างผู้อาศัยไประยะหนึ่ง ในขณะที่กำลังคิดว่าควรจะรื้อรังทิ้งได้แล้ว เพื่อจะได้โมบายล์สวยๆกลับมาดังเดิม แต่แล้วในเวลาช่วงปลายเดือนกค. ก็พบว่ามีนกตัวนึงบินคาบเศษใย ไบไม้มาทำรัง (ไม่แน่ใจว่าใช่แม่นกตัวเดิมไหมนะ) แต่คราวนี้ใช้เวลาไม่นาน น่าจะเพราะรังยังมีสภาพสมบูรณ์พอสมควร พอต้นเดือนสค.เจ้านกตัวนั้นก็เข้ามา เช็คอิน เข้าพักที่ อพาร์ทเม้นคุณป้า เรียบร้อย
.
              วันจันทร์ที่ผ่านมาเกิดลมพัดแรง เชือกที่ผูกกิ่งไม้ขาด กิ่งและรังร่วงหล่นลงมากองที่พื้น เจ้านกกินปลีอกเหลือง เจ้าของรังปัจจุบัน ส่งเสียงร้อง และ กระพือปีก บินขึ้นลง อยู่บริเวณนั้น ตอนที่แม่ตาเดินออกมาพบ ก่อนที่จะช่วยแขวนกิ่งรังกลับที่เดิม ตกเย็นนกตัวนั้นก็บินเข้าไปนอนพัก โผล่เพียงหัว และจงอยสีดำ ออกมาเช่นเดิม ได้จ้องตากับเจ้านกในระยะประชิด ไม่รู้หรอกว่าแม่นกคิดอะไร จะขอบคุณเราหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เราก็พอใจแล้วว่าเราได้ลงมือทำทำสิ่งที่ควรทำ
.
              อีกไม่นานลูกนกคงถูกฟักออกมาจากไข่ และหลังจากแม่นกคอยป้อนข้าวป้อนน้ำดูแลอย่างดี เจ้าลูกนกก็คงจะปีกกล้าและขาแข็ง พร้อมบินออกไปสู่โลกกว้างในไม่ช้าเหมือนนกตัวอื่นๆ
.
                ส่วนที่นี่...ที่บ้านสำราญ ก็คงจะมีนกตัวอื่น หรือ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ แวะเวียนเข้ามาพักพิง และ ฉันก็จะคงทำหน้าที่ผู้ดูแล ผู้สนับสนุน ผู้จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมให้พร้อมสำหรับการเติบโต และ เข้าใจและยอมรับว่า เมื่อใดที่เขาแข็งแรงและพร้อมแล้ว เขาก็จะบินออกไป สร้างเรื่องราวชีวิตแบบของตัวเอง และหากวันข้างหน้าเขาจะบินกลับมาพัก หรือมาทักทาย ให้หายคิดถึงกัน....ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดี
.
บันทึกโดย แม่ตา
12 สค.63 (วันแม่)
บ้านสำราญ แจ้งวัฒนะ 14 กรุงเทพฯ
0 Comments



Leave a Reply.

    Picture

    MaMa Ta
    วรณัน โทณะวณิก (แม่ตา)

    Founder of MaMaTa Baansamran 

    Archives

    November 2021
    June 2021
    October 2020
    August 2020
    December 2017
    November 2014

    Categories

    All

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.
  • Home
  • Course
    • Waldorf-Inspired Parent & Child Playgroup
  • Store
  • About
    • MaMaTa Family Playgroup
    • MaMaTa Family Workshop
    • MaMaTa Family Trip
    • MaMaTa Family Store
    • MaMaTa Family Bookstore
    • MaMaTa Family Space
  • Contact
    • Map
  • Sharing / Articles
  • Photo Gallery
  • Publicity
  • ของเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กๆใน
  • Children Songs
  • Stockmar Modelling Beeswax
  • Children Drawing
  • Blog